2015-06-25 04:15:35

ETDA คลายปมปัญหาซื้อขายออนไลน์ หวังดันกราฟอีคอมเมิร์ซไทยพุ่งทะยาน

ETDA คลายปมปัญหาซื้อขายออนไลน์ หวังดันกราฟอีคอมเมิร์ซไทยพุ่งทะยาน

 

เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2558 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center ร่วมกับสำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แห่ง ETDA เชิญพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน มาพูดคุยในหัวข้อ  “กะเทาะเปลือกความคิด วิธีรับมือกับปัญหาธุรกิจอีคอมเมิร์ซไทย สู่ความเป็นสังคมออนไลน์ที่มั่นคงปลอดภัย” ซึ่งเป็นการร่วมแชร์ประสบการณ์และปัญหาที่ต้องเผชิญของแต่ละฝ่าย รวมทั้งวิธีการแก้ไขที่ผ่านมา พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางที่ควรพัฒนาและความต้องการในการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้กระบวนการพัฒนาอีคอมเมิร์ซของประเทศไทย เติบโตได้อย่างเข้มแข็งและรวดเร็วยิ่งขึ้น

ผู้ร่วมพูดคุยวันนี้ ได้แก่ ร.ต.อ.มนุพัศ ศรีบุญลือ รอง สวป. สน.เพชรเกษม อดีตรอง สว.กก.2  กองบังคับการปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คุณกิตติสันต์ คำทิพย์ ผจก.ฝ่ายการตลาด แห่ง www.ensogo.co.th เว็บดีลลำดับต้น ๆ ของเมืองไทย และยังครองส่วนแบ่งทางการตลาดเว็บดีลของประเทศ คุณดารกา ศรีไชยยานุพันธ์ ผจก.ฝ่ายการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ แห่ง www.kaidee.com เว็บ Classified ที่มีชื่อเสียงของไทย และ คุณณัฐวิทย์ ผลวัฒนสุข กก.ผจก. แห่ง www.lnwshop.com ผู้ให้บริการตลาดเว็บไซต์สำเร็จรูปชั้นนำของไทย โดยมี พ.ต.ท.หญิง จีรบูรณ์ บำเพ็ญนรกิจ ผอ.สำนักโครงการพิเศษ ETDA เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

สำหรับปัญหายอดฮิตในโลกอีคอมเมิร์ซ ซึ่งกลุ่มเว็บดีลและเว็บแพล็ตฟอร์มนำมาถกกันในวันนี้ ทั้งปัญหาในฝั่งผู้ซื้อและฝั่งผู้ขาย เช่น คนไทยยังใช้บัตรเครดิตค่อนข้างน้อย ทำให้ไม่มีข้อมูลตัวตนสำหรับติดตามและเป็นสาเหตุของการโกงตามมา ซึ่งนำมาสู่การสร้าง Payment Gateway หรือระบบบัญชีกลางในการซื้อขายสินค้าของเว็บที่เป็นแพล็ตฟอร์มเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว, การไม่ได้รับของเมื่อโอนเงินไปแล้ว ซึ่งแพล็ตฟอร์มมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ซื้อยังไม่โอนเงินจนกว่าจะเห็นสินค้าหรือบริการจากผู้ขายก่อน รวมทั้งมี Call Center หรือ Merchant Service เพื่อให้ความช่วยเหลือ และมีมาตรการที่ช่วยเหลือสุดท้ายคือ “การคืนเงิน”, ผู้ขายขาดความชำนาญทางการตลาด ทำให้สินค้าไม่ได้รับความสนใจ ซึ่งทางแพล็ตฟอร์มจะส่งทีมงานไปช่วยถ่ายรูปและให้รายละเอียดของสินค้าและบริการ เพื่อสร้างความน่าสนใจให้แก่สินค้ามากขึ้น และเป็นแนวทางให้ผู้ขายสามารถพัฒนาการขายสินค้าของตัวเองในอนาคต

 

ร.ต.อ.มนุพัศฯ ให้ความเห็นว่า การระมัดระวังตัวเองในการซื้อขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจสอบตัวตนของผู้ซื้อผู้ขาย การค้นหารีวิวร้านค้า หรือการตรวจสอบพิกัดหลังรูปเพื่อดูว่าสินค้าเหล่านี้ถ่ายมาจากสถานที่ไหน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ส่วนปัญหาที่พบมากคือการซื้อขายสินค้าผ่านระบบที่มีความน่าเชื่อถือน้อย โดยมักมีการโอนเงินไปก่อน แนวทางแก้ควรเป็นการโอนมาที่ระบบบัญชีกลางมากกว่าการโอนไปยังบัญชีของผู้ขายโดยตรง หรือสร้างระบบในการระงับการส่งเป็นพัสดุทางไปรษณีย์ ซึ่งต้องมีการทำงานร่วมกันกับทางไปรษณีย์ว่าจะจัดการเรื่องนี้อย่างไร และหากประสบปัญหาสามารถแจ้งความกับ สน.ท้องที่ที่พบการกระทำความผิดได้ เช่น เปิดคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ตโฟนที่ไหนแล้วพบเจอสินค้าผิดกฎหมายที่โพสต์ขายในเว็บก็สามารถแจ้งความ ณ ท้องที่นั้นได้เลย รวมทั้งสามารถไปแจ้งที่กองบังคับการปราบปรามเกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ ปอท. ได้ด้วย

 

สำหรับกรณีศึกษาจากปัญหาที่เกิดขึ้นของผู้ประกอบการนั้น คุณณัฐวิทย์ฯ ตั้งข้อสังเกตว่า จะไม่ส่งเสริมการส่งมอบสินค้าแบบรับมือโดยตรง โดยไม่มีการ Track ติดตามได้ ในฐานะแพล็ตฟอร์มซึ่งต้องเป็นผู้ไกล่เกลี่ยกรณีเกิดปัญหา จึงได้สร้างระบบบัญชีกลางเพื่อรับเงินแทน ซึ่งจะทำให้การไกล่เกลี่ยระหว่างผู้ซื้อผู้ขายเกิดขึ้นได้ สำหรับคุณดารกาฯ กล่าวว่า การรับมือกับมิจฉาชีพจะเน้นการให้ความรู้ ไม่ใช่แค่บนแพล็ตฟอร์ม แต่มีการลงพื้นที่ และให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งการดำเนินการภายหลังเกิดเหตุที่เน้นการให้ข้อมูลที่จำเป็นเพื่อช่วยในการจับคนร้าย เพื่อให้ผู้เสียหายเกิดความมั่นใจมากที่สุด ส่วนคุณกิตติสันต์ ยกกรณีตัวอย่างที่ประทับใจคือ กรณีที่ลูกค้าประสบปัญหา แต่ยังติดต่อทางทีมงานไม่ได้ เมื่อ Search พบเฟซบุ๊กส่วนตัวของผู้บริหารแล้วโพสต์ปัญหาลงไป ผู้บริหารก็จัดการแก้ไขภายในเวลาอันรวดเร็วและสร้างความประทับใจให้ลูกค้าได้

 

ในการเสวนาครั้งนี้ ยังได้นำเสนอปัจจัยอื่น ๆ ที่จะช่วยผลักดันให้อีคอมเมิร์ซของไทยเติบโต เช่น การแข่งขันตามกลไกทางตลาด โดยภาครัฐควรปล่อยให้เอกชนแข่งขันกันเอง และภาครัฐช่วยสนับสนุนโดยสร้างระบบการร้องเรียนทางออนไลน์ เพื่ออำนวยความสะดวกในการดำเนินการ การทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและเอกชน อย่างใกล้ชิดกันมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนางานวิจัยเพื่อพัฒนาระบบอีคอมเมิร์ซ การสร้างความน่าเชื่อถือโดยการจดทะเบียน ซึ่งเป็นมาตรการในการยืนยันตัวตนของผู้ประกอบการ ที่สามารถสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น การส่งเสริมและสนับสนุนประชาชนให้มีการซื้อสินค้าหรือบริการทางออนไลน์ ด้วยการให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง การผลักดันระบบ Payment Gateway โดยมีมาตรการในการตรวจสอบก่อนเปิดบัญชีที่รัดกุม การจัดเรตติ้ง ทั้งในทางบวกและในทางลบ เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้ซื้อในการตรวจสอบ ฯลฯ

 

ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต ผอ.อาวุโส สำนักส่งเสริมธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ETDA ได้กล่าวทิ้งท้ายก่อนปิดการเสวนาว่า การหาแนวทางความร่วมมือซึ่งกันและกันในการแก้ไขปัญหาของอีคอมเมิร์ซไทยสำหรับวันนี้นับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี เพื่อทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นน้อยลงหรือหมดไป ซึ่งจะทำให้อีคอร์มเมิร์ซของบ้านเราเติบโตได้รวดเร็วขึ้นและเข้มแข็งเช่นเดียวกับประเทศชั้นนำอื่น ๆ

 

ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจของเวที ICT Law Center Open Forum ซึ่งในวันเสาร์ที่ 27 มิถุนายนนี้จะพูดคุยในหัวข้อ “ปัจจัยสำคัญและโอกาสในการแข่งขันของประเทศไทย ภายใต้เศรษฐกิจดิจิทัล” (COMPETITIVENESS IN THE DIGITAL ECONOMY) ที่ https://www.etda.or.th และ http://ictlawcenter.etda.or.th

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ICT LAW CENTER  ขอเชิญร่วมทำแบบประเมินความพึงพอใจในการเข้าถึงข้อมูล ของ สพธอ.

    * ท่านมีความพึงพอใจในช่องทางการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมาย/คู่มือ/แนวปฏิบัติ ที่ สพธอ. จัดเตรียมไว้ มากน้อยเพียงใด