2015-03-24 11:49:26

ETDA จับมือ MPA ชี้ภัยเว็บเถื่อน พบโฆษณาสื่อลามก การพนัน แซงเพื่อนบ้าน

ETDA จับมือ MPA ชี้ภัยเว็บเถื่อน พบโฆษณาสื่อลามก การพนัน แซงเพื่อนบ้าน

 

เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2558 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center ร่วมกับ สมาคมผู้สร้างภาพยนตร์แห่งสหรัฐอเมริกา(Motion Picture Association (THAILAND)) หรือ MPA เปิดหัวข้อเสวนา “High Risk Advertising and the Piracy Ecosystem: Its Impact on the Youth in the Digital Age ผลกระทบของการโฆษณา (ไม่ดี)บนอินเทอร์เน็ตต่อเยาวชนในยุคดิจิทัล” เปิดผลสำรวจพบโฆษณาสื่อลามกและการพนันซึ่งไม่เหมาะสมกับเด็กผ่านเว็บไซต์เถื่อนเกือบ 100% วอนผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานให้มากยิ่งขึ้น จี้รัฐเร่งส่งเสริมประชาชนให้รู้เท่าทันสื่อและร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อควบคุมโฆษณาออนไลน์

เวที Open Forum ของ ETDA โดย ICT Law Center ร่วมกับ MPA ครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากวิทยากร 3 ท่าน ดร.พอล เอ. วัตเตอร์ (Dr. Paul A. Watters) ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยแมสซี (Massey University) ประเทศนิวซีแลนด์ ดร.จินตนันท์ ชญาตร์ ศุภมิตร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกรรมการมูลนิธิพิทักษ์และคุ้มครองเด็ก และคุณศรีดา ตันทะอธิพานิช ผู้จัดการมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย โดยมีคุณอุมาศิริ ทาร่อน รองผู้อำนวยการ MPA เป็นผู้ดำเนินรายการ และยังได้รับเกียรติจากท่านวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาคมสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ มาร่วมวงเสวนาด้วย

ประเด็นเสวนาในวันนี้ได้หยิบยกเรื่อง ธุรกิจโฆษณาที่มีผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ โดยมีการนำเสนอผลการวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับ ผลกระทบของโฆษณาความเสี่ยงสูงที่มีต่อค่านิยมของสังคมไทย: บทบาทของเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งได้มีการเจาะประเด็นสำหรับเว็บไซต์ภาษาไทยด้วย ผลวิจัยแสดงให้เห็นว่าผู้ใช้บริการเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์หรือเว็บไซต์เถื่อนต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากโฆษณาจำนวนมาก

โฆษณาความเสี่ยงสูง หรือ High Risk Advertising คือ โฆษณาที่อยู่ในตลาดมืด หรือตลาดเทา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสิ่งผิดกฎหมายหรือเป็นสินค้าต้องห้ามในประเทศหนึ่ง แต่ไม่ผิดกฎหมายในประเทศอื่น เช่น สื่อลามก พนันออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งอาจจะนำมัลแวร์ (Malware) เข้าสู่เครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ได้ หากมีการคลิกโหลดข้อมูลจากเว็บไซต์ดังกล่าว

ในการวิจัยสำหรับประเทศไทย ได้มีการจำลองการการค้นหา Content ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยการสร้าง “รายการคำเฉพาะ” และให้ Google หาโดยเรียงผลลัพธ์ที่มีความนิยมสูงสุด ผลที่ได้จาก 43 เว็บเถื่อน สามารถระบุได้ว่าโฆษณาที่พบ เป็นโฆษณากระแสหลัก 6% และโฆษณาความเสี่ยงสูงถึง 94% ได้แก่ โฆษณาสื่อลามก และการพนัน และเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ถือว่าโฆษณาความเสี่ยงสูงไทยสูงกว่าไต้หวันและมาเลเซีย

ในการป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นสำหรับโฆษณาที่มีความเสี่ยงสูง ผู้ปกครองควรต้องเรียนรู้ว่าเด็ก ๆ กำลังสนใจอะไรในโลกออนไลน์ โดยเฉพาภาพลามกอนาจาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากต่อการประเมินค่าผลกระทบที่เกิดขึ้นทางสังคม เมื่อเทียบกับการติดไวรัสจาก Malware ที่สามารถตีเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจได้

ทั้งนี้ผลสำรวจที่น่าตกใจปี 2557 พบว่าคำที่คนไทยใช้ค้นยอดนิยม คือ “เว็บแทงบอลออนไลน์” (0.19 วินาที ขึ้นมาเกือบ 2 แสนรายการ) คำว่า “โป๊” พบ 4 ล้านกว่าราย (server จะมีทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและต่างประเทศ) ซึ่งจะมีโฆษณาแฝงที่เป็นอันตราย เช่น การขายยา เป็นต้น

สำหรับประเด็นที่ฝากจากเวทีพูดคุยคือ

  • เสนอให้แยกลามกเด็กและผู้ใหญ่ออกจากกัน ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตั้งคณะกรรมาธิการฯ เพื่อการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  • ประเด็นที่ฝากต่อทั้งหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ การส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายเกิดการเรียนรู้ที่เท่าทันสื่อ
  • ทางแก้ปัญหาที่สำคัญ เช่น การลงโปรแกรมถูกกฎหมาย การลง Anti-virus เป็นต้น ดังนั้น อยากให้มีการช่วยกันโปรโมตโปรแกรมต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ พร้อมกันนี้ ทาง Google เองก็มีมาตรการในการบล็อกคำบางคำที่ไม่ควรค้นหาเจอ เช่น คำว่า Child pornography เป็นต้น

ที่สำคัญ คือ บทบาทของรัฐไม่ใช่การบังคับควบคุมทุกอย่าง แต่ต้องดูในบริบทที่สำคัญและเป็นอันตรายอย่างแท้จริงต่อสังคม ไม่เช่นนั้น ประชาชนอาจจะอดดูแม้กระทั่งการ์ตูนสโนไวท์ เพราะมีฉากกินแอปเปิ้ลอาบยาพิษ พร้อมกันนี้ ควรเร่งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือในลักษณะของ Multi-stakeholder เพื่อให้เกิดการรวมกันกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับประเทศเราอย่างยั่งยืน

สำหรับ ICT Law Center Open Forum ในวันเสาร์ที่ 28 มีนาคม 2558 นี้ จะพูดคุยเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อรองรับเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งจัดร่วมกับ Joint Foreign Chambers of Commerce ติดตามความเคลื่อนไหวและรายละเอียดได้ทาง http://www.etda.or.th และ http://ictlawcenter.etda.or.th/

      

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ICT LAW CENTER  ขอเชิญร่วมทำแบบประเมินความพึงพอใจในการเข้าถึงข้อมูล ของ สพธอ.

    * ท่านมีความพึงพอใจในช่องทางการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมาย/คู่มือ/แนวปฏิบัติ ที่ สพธอ. จัดเตรียมไว้ มากน้อยเพียงใด