2015-09-04 14:47:57

ETDA เปิดพื้นที่แชร์เรื่อง Drone รับกฎใหม่ที่เพิ่งประกาศ

จากการที่ “โดรน” (Drone) หรือ อากาศยานไร้คนขับ ได้รับความนิยมในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งเกิดความ กังวลในสังคมว่า อาจมีการนำโดรนมาใช้ในทางที่ผิด เช่น การละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือนำมาเป็นเครื่องมือในการกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ ภาครัฐเองก็เกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยด้านการจราจรทางอากาศ ล่าสุดเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 ราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนัก บิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 ซึ่งสร้างความตื่นตัวให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคเอกชนที่เริ่มนำโดรนมาใช้ในการทำงาน

 

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center ได้เปิดบ้านเสวนาในหัวข้อ ใช้โดรน (Drone) อย่างไร ให้โดนใจ ไม่โดนดี” เพื่อ ให้ผู้เชี่ยวชาญที่ใช้งานโดรนอยู่แล้วจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ได้มาแชร์ประสบการณ์ ร่วมกับนักวิชาการด้านกฎหมาย และหาคำตอบเกี่ยวกับการกำกับดูแลการใช้โดรนในทางที่ถูกต้องและสร้างสรรค์ โดยได้รับเกียรติจาก นาวาอากาศเอก นรินทร์ อรัญพูล ผู้บังคับศูนย์ควบคุมการปฏิบัติทางอากาศที่ 2 ศูนย์ป้องกันทางอากาศ กรมควบคุมการปฏิบัติทางอากาศ กองทัพอากาศ สรณคมน์ บัวพึ่งน้ำ ผู้ช่วยหัวหน้าข่าวหน้า 1 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ และ รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น ร่วมพูดคุยกับ พ.ต.ท.หญิง จีรบูรณ์ บำเพ็ญนรกิจ ผู้อำนวยการสำนักโครงการพิเศษ ETDA ณ ห้อง Open Forum ของ ETDA เมื่อวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา  

นาวาอากาศเอก นรินทร์ กล่าวว่า “โดรน” คืออากาศยานที่ไร้นักบิน มีการนำมาใช้ทางทหาร ทั้งในการลาดตระเวน หาข่าว หรือถ่ายภาพ แทนอากาศยานจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยควบคุมการบินได้ด้วย 2 วิธีคือ ควบคุมให้ทำการบินด้วยตนเองอัตโนมัติจากคอมพิวเตอร์ หรือควบคุมการบินระยะไกลจากนักบินที่อยู่บนภาคพื้น อย่างไรก็ตามในแง่กฎหมาย โดรนที่มีปริมาตรไม่เกิน 1 ลูกบาศก์เมตร ไม่ถือว่าเป็นอากาศยาน ตามคำนิยามพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และกฎกระทรวง กำหนดวัตถุซึ่งไม่เป็นอากาศยาน พ.ศ. 2548 นอกนั้นเป็นอากาศยานทั้งหมด มีคำนิยามมากมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับบริบทของกฎหมายนั้น ๆ


“ในการใช้งานของอากาศยานทั้งที่มีนักบินและไร้นักบินนั้น  จะต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับและกฎการบินโดยเคร่งครัด ซึ่งจะต้องมีการส่งแผนการบินล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ชั่วโมงไปยังเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจรทางอากาศ ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการบิน ในกรณีที่โดรนจะทำการบินในระดับสูง จะต้องติดตั้งอุปกรณ์ที่แสดงตนเอง เพื่อการพิสูจน์ทราบ และปฏิบัติการบินตามคำอนุญาตโดยเคร่งครัด การที่จะทำการบินเข้าไปในเขตห้าม (Prohibited Area) เขตกำกัด (Restricted Area) และ เขตอันตราย (Danger Area) จะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ที่รับผิดชอบดูแลพื้นที่ก่อนล่วงหน้าทุกครั้ง หากไม่เช่นนั้น อาจจะถูกสกัดกั้นหรือถูกทำลาย จากหน่วยงานความมั่นคงที่รับผิดชอบได้ ซึ่งนักบินที่จะทำการบินในราชอาณาจักรจะต้องดูแลปฏิบัติตามเอกสารบรรณสารการ บินแห่งประเทศไทย (Aeronautical Information Publication: AIP) อย่างเคร่งครัด” นาวาอากาศเอก นรินทร์ กล่าว

สรณคมน์ กล่าวถึงการใช้โดรนในการทำข่าวว่า มีการนำมาใช้ได้ระยะหนึ่งแล้ว โดยความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วงที่เกิดการชุมนุมทางการเมืองที่เป็นม็อบสีต่าง ๆ ซึ่งการใช้แต่ละครั้งจะมีทีม 3 คน คือ นักบิน ผู้ควบคุมภาพ และเนวิเกเตอร์ที่คอยควบคุมทิศทาง ดูสภาพภูมิประเทศที่จะบิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละองค์กรด้วย การบินแต่ละครั้งจะบินตามคำสั่งและข้อบังคับของสำนักข่าวเพื่อนำข่าวสารมา สู่ประชาชนเท่านั้น มีการแจกหมวกที่แสดงถึงการเป็นนักข่าวที่ใช้โดรนเพื่อแยกประเภทระหว่างผู้ ใช้โดรนที่เป็นนักข่าวกับคนทั่วไป นอกจากนั้นยังมีการรวมกลุ่มของคนที่ใช้โดรน เพื่อให้ความรู้ด้วยกันเอง หรือบริษัทที่ขายโดรนคอยให้ความรู้ในการใช้ และจะมีการอบรมในการใช้โดรนทำข่าวเพื่อให้สามารถใช้งานได้และให้เกิด ประโยชน์มากขึ้น

 

ส่วนประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่ มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 ที่เพิ่งประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2558 มีสาระสำคัญ แบ่งอากาศยานไร้นักบินเป็น 2 ประเภท คือ

  1. เล่นเพื่องานอดิเรก บันเทิง กีฬา
    1. ขนาดไม่เกิน 2 กิโลกรัม 
    2. ขนาดเกิน 2 กิโลกรัม แต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม
  2. ไม่ใช่เพื่องานอดิเรก แต่เพื่อวัตถุประสงค์อื่น ๆ เช่น เพื่อการทำข่าว ช่วยเหลือ รายงานจารจร ภาพยนตร์วิจัยและพัฒนา อื่น ๆ เป็นต้น ซึ่งมีน้ำหนักไม่เกิน 25 กิโลกรัม ต้องมีการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา

ก่อนทำการบินต้องมีการตรวจเช็คตามที่ประกาศกระทรวงคมนาคมกำหนด และเมื่อบินแล้วต้องไม่รบกวนผู้อื่น และที่สำคัญคือ ไม่ให้บินในบริเวณ เขตห้าม เขตกำกัด และเขตอันตราย (Danger Area) ตามประกาศของ AIP ประเทศไทย หากมีเหตุสงสัยการฝ่าฝืนสามารถดำเนินต่อการฝ่าฝืนได้ตามกฎหมาย โดยทุกคนที่ทำการบินต้องได้รับอนุญาต และต้องมีการส่งแผนการบินให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่มีหน้าที่ดูแลเรื่อง การบินเพื่อควบคุมและหลีกเลี่ยงความไม่ปลอดภัยอย่างน้อย 1 ชั่วโมง

รศ. คณาธิป ให้ความเห็นต่อประกาศนี้ว่า มีการคุ้มครองสิ่งที่มีอยู่ เช่นทางทหารหรือการทำข่าว แต่ไม่ได้กล่าวถึงการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งไม่ได้คุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลเท่าใดนัก มีประเด็นที่น่าสนใจตรงที่นิยามคำว่า “สื่อมวลชน” เป็นสื่อแบบดั้งเดิม คือ วิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ส่วนสื่อใหม่อยู่ภายใต้ประกาศนี้หรือไม่ รวมทั้งยังไม่ครอบคลุมไปถึงองค์กรและสตูดิโอต่าง ๆ ที่ใช้โดรนในการทำงาน อีกจุดหนึ่งคือ ภายใต้ พ.ร.บ. การเดินอากาศฯ กับกฎกระทรวง ไม่ได้นิยาม “เครื่องบินเล็กซึ่งใช้เป็นเครื่องเล่น” ซึ่งกำหนดไว้ว่าไม่เป็นอากาศยาน เพราะในแง่ความเป็นส่วนตัวหรือ privacy ก็อาจใช้เก็บข้อมูลได้ ถ้าถูกฟ้องให้ต่อสู้ เช่น คอปเตอร์เล็กที่ใช้เล่น อาจทำให้หลุดรอดได้

สรณคมน์ ให้ความเห็นว่า ในทางสื่อมวลชนประกาศฯ นี้ เป็นเรื่องที่ดี แต่ที่อาจทำให้หวั่นไหวในกลุ่มผู้ใช้โดรน คือ เรื่องการทำประกัน ใครจะเป็นเจ้ามือรับแจ้ง เครื่องตกแล้วต้องทำอย่างไรต่อ รวมถึงกรณีที่มีอุบัติเหตุ ซึ่งยังไม่ครอบคลุม และอาจไม่ practical นัก เพราะยังไม่มีบริษัทรับประกันภัยเรื่องนี้ในประเทศไทย 

 

นอกจากนั้น ยังมีประเด็นที่น่าสนใจจากผู้เข้าร่วม Open Forum เช่น “การใช้โดรนเพื่อถ่ายทำละครหรือภาพยนตร์ต้องขออนุญาตใคร โดยเฉพาะงานที่มีข้อจำกัดด้านเวลา ถ้าขโมยถ่าย จะผิดไหม” “ความพร้อมของหน่วยงานราชการ และผู้รับผิดชอบตามประกาศฯ นี้” “ถ้าเป็นคนต่างประเทศมาใช้โดรนในไทย แล้วบันทึกภาพกลับไปใช้ในต่างประเทศ ทำได้หรือไม่” ฯลฯ  รวมทั้งยังมีผู้เสนอแนะว่า ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบในเรื่องกฎหมายมากกว่านี้ และเวทีที่จัดควรเชิญเจ้าภาพที่ออกกฎหมายมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม ประกาศฯ ที่ออกมาดูเหมือนจะเน้นเรื่องความมั่นคงเท่านั้น อาจส่งผลในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ

 

ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจของเวที ICT Law Center Open Forum โดยในวันเสาร์ที่ 5 กันยายน 2558 จะจัดในหัวข้อ “ทำอย่างไรให้หาของง่าย ขายของดี มีช่องทางจ่ายเงินสะดวก ยกระดับการค้าไทยในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล”ที่ www.etda.or.th และ http://ictlawcenter.etda.or.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ICT LAW CENTER  ขอเชิญร่วมทำแบบประเมินความพึงพอใจในการเข้าถึงข้อมูล ของ สพธอ.

    * ท่านมีความพึงพอใจในช่องทางการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมาย/คู่มือ/แนวปฏิบัติ ที่ สพธอ. จัดเตรียมไว้ มากน้อยเพียงใด