2015-08-06 09:25:25

ใช้ชื่อโดเมนและอีเมลภาษาไทย เพิ่มโอกาสคนไม่รู้ภาษาอังกฤษสู่โลกออนไลน์

ใช้ชื่อโดเมนและอีเมลภาษาไทย เพิ่มโอกาสคนไม่รู้ภาษาอังกฤษสู่โลกออนไลน์

 

ทุกวันนี้ คนไทยใช้มือถือเกือบ 100 ล้านเลขหมาย แต่มีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพียง 26 ล้านคน ตัวเลขส่วนต่างกว่า 70 ล้าน สะท้อนให้เห็นว่า คนอีกเป็นจำนวนมากยังไม่ได้เข้าถึงข้อมูลและโอกาสใหม่ ๆ จากโลกออนไลน์ ทั้งที่ประเทศกำลังขับเคลื่อนสู่ Digital Economy หลายฝ่ายชี้ ภาษาอังกฤษเป็นอุปสรรคสำคัญ หากสนับสนุนให้ใช้อีเมลและโดเมนที่เป็นภาษาไทยจะช่วยเปิดประตูโอกาสบานใหม่ให้คนไทยได้อีกหลายสิบล้านคน

 

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA (เอ็ดด้า) โดย ICT Law Center และ สำนักโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศ ETDA เปิดวงเสวนาในหัวข้อ "Localization ... How to get the next million Thai online users?" โดยมี ภาคภูมิ ไตรพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอช.นิค จำกัด (THNIC) ดวงทิพย์ โฉมปรางค์ ผู้บริหารอินเทอร์เน็ตโซไซตี้ประเทศไทย (ISOC) และ เพ็ญศรี อรุณวัฒนามงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดอท อะไร จำกัด ให้เกียรติร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ วรรณวิทย์ อาขุบุตร รองผู้อำนวยการ ETDA และ ดร.ปนัสย์ รัฐกิจวิจารณ์ ณ นคร ผู้ชำนาญการและผู้จัดการ ส่วนงานความร่วมมือระหว่างประเทศ สำนักยุทธศาสตร์ ETDA ณ ห้อง Open Forum ชั้น 21 ของ ETDA เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

 

     

 

ภาคภูมิฯ กล่าวว่า อินเทอร์เน็ตเริ่มต้นที่ภาษาอังกฤษ เนื่องจากเป็นภาษากลางที่ใช้สื่อสารกันทั่วโลก แต่ยังมีกลุ่มคนที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษและใช้ภาษาท้องถิ่นเป็นหลัก อย่างในประเทศไทย คนที่ใช้ภาษาอังกฤษมีเพียง 10-15 % ส่วนที่เหลือไม่สามารถที่จะใช้ประโยชน์ในการค้นหาข้อมูลสำคัญได้เท่าที่ควร เพราะมีอุปสรรคด้านภาษา ซึ่งประตูบานแรกคือชื่อโดเมนเว็บไซต์ต่าง ๆ รวมทั้งอีเมล เป็นภาษาอังกฤษ ต่อไปบริการบรอดแบนด์จะครอบคลุม 80 % ของประเทศ จึงท้าทายว่าจะทำอย่างไรเพื่อลดช่องว่างตรงนี้ รัฐต้องเป็นผู้สร้างโครงสร้างพื้นฐานทางอินเทอร์เน็ตที่เป็นภาษาไทยเพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม

 

ด้านเพ็ญศรีฯ ยกตัวอย่างร้านอาหารที่ใช้อีเมลในการสั่งอาหาร คนไทยที่อ่านภาษาอังกฤษไม่ออกก็ไม่สามารถจองได้ ส่วนเฟซบุ๊กแม้จะมีการเปิดฟังก์ชันภาษาไทย แต่การสมัครยังต้องใช้อีเมลซึ่งเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้คนที่ไม่รู้ภาษาอังกฤษไม่สามารถสมัครอีเมลได้ พร้อมกับเสริมว่า ในเวทีของ ICANN ก็มีความพยายามผลักดันให้มีการใช้อีเมลและโดเมนภาษาท้องถิ่น และปัจจุบันก็มีเทคโนโลยีรองรับการ Localization ที่เป็นภาษาท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว เช่น Gmail ที่รองรับการใช้อีเมล เพ็ญศรี@อรุณวัฒนามงคล.ไทย ดังนั้น เพื่อให้ผู้ให้บริการรายต่าง ๆ จัดทำระบบรองรับภาษาท้องถิ่น ก็จำเป็นที่จะต้องช่วยกันสื่อสารออกมาเพื่อให้ทุกคนสนใจ โดยแสดงความคิดเห็นผ่านเวทีต่าง ๆ เช่น  ICANN หรือเวที IGF ของไทย

 

วรรณวิทย์ฯ กล่าวในฐานะผู้ทำงาน EAI หรือ Email Address Internationalization เพื่อให้อีเมลไทยสามารถใช้ในการติดต่อคนทั่วโลกได้ว่า ถ้าไม่ทำอะไรเรื่องนี้เลย อนาคตหากจะตั้งหน่วยงานใดหรือธนาคารใด ก็ต้องไปจดทะเบียนกับต่างชาติ เพื่อจะบอกว่าเราคือใคร เพราะว่าเป็นตัวหนังสือภาษาอังกฤษ แต่ถ้าเป็น .ไทย ต่างชาติก็ต้องตรวจสอบได้ ซึ่งต้องมีทีมมาทำเรื่องนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่อีเมลเท่านั้น เพราะเป็นโครงสร้างสำคัญของประเทศที่ต้องทำต่อไปอีก

 

 

ภาคภูมิฯ กล่าวในช่วงท้ายว่า การที่จะทำให้ใช้ภาษาไทยได้ ต้องใช้พลัง ไม่ใช่อยู่ดี ๆ จะเกิดขึ้นได้ เทคโนโลยีนั้นมาแล้ว แต่ผู้ประกอบการจะต้องเข้าใจและให้ความสำคัญกับเรื่องพวกนี้ ถ้าผู้ประกอบการไม่ทำ ตรงอื่นก็เริ่มไม่ได้ ส่วนเพ็ญศรีฯ กล่าวว่า ถ้าผู้ให้บริการจะเปิดให้บริการอีเมลภาษาไทย อย่างน้อยภาครัฐหรือมูลนิธิ (THNIC) จะต้องเริ่มต้นวางรากฐานก่อน หลังจากนั้นธุรกิจจะเอาสิ่งที่ค้นคว้าหรือมีแนวทางแล้วไปพัฒนาให้ระบบนั้นรองรับในจุดนี้ได้ ส่วนวรรณวิทย์ฯ กล่าวถึงการส่งเสริมของภาครัฐให้คนมาใช้ภาษาท้องถิ่น ในประเด็นเรื่องความมั่นคงปลอดภัย โดยยกตัวอย่างการใช้ IDN (Internationalized Domain Name) หรือโดเมนภาษาท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นอาหรับหรือจีน ที่ลดจำนวนภัยคุกคามได้พอสมควร และการลดค่าใช้จ่ายเรื่อง SSL ที่ต้องใช้ในการที่จะออกใบรับรองทั้งระบบ

 

ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจของเวที ICT Law Center Open Forum ซึ่งในวันเสาร์ที่ 8 สิงหาคมนี้จะพูดคุยในหัวข้อ “Netiquette: อยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ ผ่านการสื่อสารออนไลน์อย่างสร้างสรรค์”  ได้ที่ https://www.etda.or.th และ http://ictlawcenter.etda.or.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ICT LAW CENTER  ขอเชิญร่วมทำแบบประเมินความพึงพอใจในการเข้าถึงข้อมูล ของ สพธอ.

    * ท่านมีความพึงพอใจในช่องทางการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมาย/คู่มือ/แนวปฏิบัติ ที่ สพธอ. จัดเตรียมไว้ มากน้อยเพียงใด