2015-06-10 09:48:05

ETDA จุดประกายนักเขียนออนไลน์ เขียนได้อย่างอิสระ แต่ต้องไม่ละเมิดเขา

ETDA จุดประกายนักเขียนออนไลน์ เขียนได้อย่างอิสระ แต่ต้องไม่ละเมิดเขา

 

เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center เชิญนักเขียน นักแปล และนักวิชาการด้านกฎหมาย ร่วมถกประเด็น “สร้าง Creative Writer ในยุค Digital Content : ใช้ Freedom of Speech อย่างไรในการเขียนให้ดี ไม่มีล่วงละเมิด” เพื่อส่งเสริมนักเขียนใหม่ให้เข้าสู่วงการน้ำหมึกออนไลน์ โดยรู้ถึงสิทธิหน้าที่ของตน ย้ำทุกคนมีอิสระในการเขียน แต่ต้องไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ไม่หมิ่นประมาท ไม่ละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล และไม่ใช้ Hate Speech ที่สำคัญต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา

การพูดคุยวันนี้ ได้รับเกียรติจากคุณอังสนา ทรัพย์สิน บรรณาธิการหนังสือพอกเก็ตบุ๊ก อีบุ๊ก และโค้ชนักเขียนหน้าใหม่ คุณผ่องศรี ลือพร้อมชัย ที่ปรึกษาสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย และ รศ. คณาธิป ทองรวีวงศ์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดและเปิดมุมมองให้แก่ผู้เข้าร่วม Open Forum โดยมีคุณพลอย เจริญสม ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย ETDA เป็นผู้ดำเนินรายการ

 

ในยุคอินเทอร์เน็ต ทุกคนสามารถนำงานเขียนของตนมาโพสต์ลงกระทู้หรือเว็ปไซต์ชื่อดังต่าง ๆ เมื่อมีคนติดตามมากขึ้นก็จะมีสำนักพิมพ์ติดต่อไปตีพิมพ์ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็พัฒนาไปอีกก้าวหนึ่งโดยการมี e-Book ที่ช่วยให้งานเขียนแพร่หลายได้มากยิ่งขึ้น ผ่าน Application ต่าง ๆ ทั้งแบบที่ให้อ่านฟรีและเสียค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดนักเขียนหน้าใหม่มากขึ้นและง่ายขึ้น ซึ่งบางครั้งทำให้งานมีคุณภาพลดลง เพราะไม่ต้องผ่านบรรณาธิการของสำนักพิมพ์ สามารถเผยแพร่ตามช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ ได้เลย

การเขียนอย่างไรไม่ให้กระทบต่อสิทธิคนอื่นในเชิงกฎหมาย ตามหลักทฤษฎีหากมี Freedom of Speech ก็มีอิสระที่สามารถเขียนได้ทุกอย่าง แต่ในทางกฎหมายให้ดูข้อจำกัด โดยเฉพาะในเรื่อง “ทรัพย์สินทางปัญญา” “หมิ่นประมาท” “Hate Speech” และ “ข้อมูลส่วนบุคคล” หรือสิทธิส่วนบุคคล รวมทั้งเรื่อง “สื่อลามก” ซึ่งกฎหมายใหม่ที่ออกมาคือ สื่อลามกเด็ก ซึ่งต้องดูนิยามในกฎหมายว่าเขียนอย่างไรไม่ให้ขัดต่อกฎหมาย

 

ในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่อาจมีการละเมิดลิขสิทธิ์นั้น หากไม่มี “Creative Commons” ซึ่งเจ้าของหรือผู้สร้างสรรค์ในงานจะอนุญาตให้ใครใช้และให้ใช้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับเจ้าของเป็นหลัก ถ้าเจ้าของไม่ให้ใช้ คนที่นำไปใช้ก็ผิด ซึ่งในโลกออนไลน์ การทำซ้ำ ดัดแปลง เกิดขึ้นได้ง่ายมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ที่แก้ไขใหม่ออกมา 2 ฉบับ ฉบับแรกเกี่ยวกับภาพยนตร์โดยเฉพาะ ซึ่งให้ความสำคัญกับการถ่ายภาพในโรงภาพยนตร์มาก ๆ จนออกมาเป็นกฎหมายแก้ไขขึ้นมาและออกบังคับใช้แล้ว ส่วนอีกฉบับหนึ่งที่ยังไม่มีผลบังคับใช้คือลิขสิทธิ์ออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันเมื่อเขียนแล้วมีการฝากไฟล์ไว้ตามระบบ Cloud Computing ซึ่งกฎหมายใหม่ได้ให้ผู้บริการมีความรับผิดไปด้วย นอกจากนั้น ยังมีการรองรับในเรื่องมาตรการทางเทคโนโลยีที่ช่วยในการป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น ทำให้ดาวน์โหลดได้ยากขึ้น ต้องมีการใส่รหัส ดาวน์โหลดมาแล้วอ่านได้กี่ครั้ง โดยหากมีการนำมาตรการป้องกันเหล่านี้ออก ก็มีความผิดเนื่องจากเป็นการหลีกเลี่ยงมาตรการทางเทคโนโลยีซึ่งเป็นเครื่องมือที่เจ้าของลิขสิทธิ์นำมาใช้เพื่อควบคุมการใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนโดยไม่ได้รับอนุญาต

Hate Speech ถือเป็น Freedom of Speech อย่างหนึ่งในความหมายอย่างกว้าง ซึ่งระดับความเกลียดชัง (Hate) มีตั้งแต่ระดับ 1) ความคิด (Idea) 2) การแสดงความเกลียดออกมา ตั้งแต่พูด เขียน พิมพ์ โพสต์ (Expression of Idea – Speech) 3) การหาพวกหรือแนวร่วมแสดงความคิดเห็น (Persuasion/Collective Hate – Idea, Speech) และ 4) การหาพวกมาลงมือกระทำ (Persuasion/Collective Hate – Action, Violence) ซึ่งกฎหมายจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับระดับ 1 แต่ดูแลในระดับ 4 โดยเฉพาะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ที่ถึงขั้นระดมพวกให้มาทำร้ายอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ก็เป็นกฎหมายที่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด ส่วนในระดับ 2 และ 3 ต้องมาชั่งน้ำหนักว่าอย่างไหนเป็น Hate Speech ที่ยอมรับได้หรือไม่ได้

 

Hate Speech ต่างกับ หมิ่นประมาท เพราะการทำงานและวัตถุประสงค์แตกต่างกัน โดยกฎหมายหมิ่นประมาทจะเน้นความเสียหายเฉพาะบุคคล องค์ประกอบคือใส่ความ “ผู้อื่น” ให้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง แต่ Hate Speech ไม่ได้คุ้มครองบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ โดยคุ้มครองความสงบเรียบร้อยไม่ให้คนกลุ่มนี้ไปโจมตีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เห็นต่างกัน ในหลายประเทศ กฎหมายกำหนดเหตุแห่งการเกลียดไว้เลย เช่น แคนาดา มีเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว รสนิยมทางเพศที่แตกต่างกัน ซึ่งคดีที่เกิดขึ้นก็จะสะท้อนสิ่งเหล่านี้ ส่วนอังกฤษ ก็มีเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา รสนิยมทางเพศ โดยพยายามสร้างความสมดุลระหว่าง Freedom of Speech และ Hate Speech ห้ามการเขียน พูด พิมพ์ โพสต์ที่ทำให้เกิดการเกลียดชัง แต่ไม่ห้ามในการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องมาดูกันอีกว่าระดับไหนถึงเป็นการสร้างความเกลียดชัง ส่วนสหรัฐอเมริกาก็มีในเรื่อง “Fighting Words” หรือคำพูดที่ทำให้คนมาต่อสู้กัน อย่างไรก็ตามก็เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับ Freedom of Speech มากกว่า

 

สำหรับประเทศไทย ในมุมมองของทางฝั่งนักเขียน เห็นว่าแต่เดิมคนไทยมีความใกล้ชิดกับศาสนา มีศีลข้อที่ 4 ที่ว่าอะไรที่ไม่ดีอย่าพูด การอยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ ทำให้การวางตัว การดำเนินชีวิต และการปรับตัวอย่างเหมาะสม มีระบบที่ทำให้พูดในสิ่งที่ควรพูด ทำในสิ่งที่ควรทำตั้งแต่ในครอบครัว ปัญหาเกิดขึ้นเพราะการดำเนินวิถีชีวิตตามแบบตะวันตก ซึ่งแนวทางในการกำกับดูแลไม่ว่าจะเป็น Freedom of Speech หรือ Hate Speech ไม่ควรใช้กฎหมายบังคับ แต่ควรใช้การกำกับดูแลด้วยกันเอง ส่วนทางฝั่งนักวิชาการด้านกฎหมาย เห็นว่า Hate Speech นั้นเป็นที่สนใจในประเทศไทยเพราะปัญหาการเมือง แต่จริง ๆ แล้วกฎหมาย Hate Speech ไม่จำเป็น เพราะถ้าจะยกพวกมาฆ่ากันก็มีกฎหมายอยู่แล้ว จะนิยาม Hate Speech อย่างไรให้ไม่จำกัด Freedom of Speech ซึ่งจะต้องให้ศาลตีความอีก และหากต้องระบุความเชื่อทางการเมืองลงไปอีกก็จะเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ที่พูดถึงเรื่องเชื้อชาติศาสนา และหากใส่ไปจะเป็นการเพิ่มความเกลียดชังมากยิ่งขึ้นหรือไม่ จึงเห็นด้วยกับเรื่อง Self-Regulation หรือธรรมนูญร่วมกันของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตว่า เขียนอย่างไรถึงจะไม่ล่วงละเมิดผู้อื่น

 

ในการเข้าสู่ยุค Digital Content สิ่งที่นักเขียนอยากให้รัฐเข้ามาช่วยส่งเสริมก็คือ อยากให้ร่วมกันปลูกฝังคนตั้งแต่ระดับเยาวชนในการมีจิตสำนึกที่ดี “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” ถ้าทำงานทุกชนิดด้วยความคิดพื้นฐานเช่นนี้ เราจะไม่ล่วงเกินและละเมิดใคร

คุณสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA ให้ความเห็นในช่วงท้ายว่า ETDA พยายามคิดนอกกรอบเกี่ยวกับการส่งเสริมให้มีนักเขียน จะเป็น Content ที่เป็นนวนิยาย ละคร เพลง หรืออะไรก็ตาม แม้กระทั่งงานวิชาการต่าง ๆ รวมทั้งนักเขียนหน้าใหม่ ๆ แทนที่จะโพสต์ลงโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ซึ่งบางครั้งการเขียนนั้นดีแต่ไม่ได้นำไปสู่การต่อยอดเพื่อให้กลายเป็นมูลค่าเพิ่มทางความคิดและทางความรู้ของคน และต่อไปคงจะพัฒนาต่อในแง่การสำรวจตลาดการเขียนหนังสือว่าทำไมบ้านเราถึงสู้ประเทศอื่นไม่ได้ ทั้งในเรื่องการเพิ่มจำนวนนักเขียน และเพิ่มจำนวน Content ดี ๆ แม้กระทั่ง Content ที่อาจจะคิดต่างออกไปหรือที่เราไม่คุ้นชินจะเพิ่มมากกว่านั้นได้ไหม อย่างน้อยในแง่ที่ว่าความเห็นในมุมต่าง อาจจะเป็นประโยชน์ก็ได้ในการจุดประกายความคิดของคน ก็เป็นเหตุผลที่ ETDA ช่วยผลักดันเรื่องนี้

 

ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยในประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจของเวที ICT Law Center Open Forum ซึ่งในวันเสาร์ที่ 6 มิถุนายน 2558 จะจัดในหัวข้อ “Fair use: on Copyright - เปิดเพลงในร้านอาหาร, ใช้ภาพจาก Internet, แชร์ link จาก YouTube อย่างไรให้ถูกต้อง” ได้ทาง https://www.etda.or.th และ http://ictlawcenter.etda.or.th

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ICT LAW CENTER  ขอเชิญร่วมทำแบบประเมินความพึงพอใจในการเข้าถึงข้อมูล ของ สพธอ.

    * ท่านมีความพึงพอใจในช่องทางการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมาย/คู่มือ/แนวปฏิบัติ ที่ สพธอ. จัดเตรียมไว้ มากน้อยเพียงใด