2015-05-01 10:56:21

ETDA สะท้อนเสียงหลายภาคส่วน สร้าง Cybersecurity ไทยให้พร้อม ก่อนดันนโยบายภูมิภาค

ETDA สะท้อนเสียงหลายภาคส่วน สร้าง Cybersecurity ไทยให้พร้อม ก่อนดันนโยบายภูมิภาค

 

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2558 สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที โดย ICT Law Center ร่วมกับ ThaiCERT (ไทยเซิร์ต) จัดเวทีพูดคุยในหัวข้อ นโยบายระดับภูมิภาคด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กับการพัฒนาเศรษฐกิจ(Regional Cybersecurity Framework and DE Development) จุดประเด็นทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาชน รวมทั้งเทคโนโลยีของประเทศไทยยังขาดความพร้อมด้าน Cybersecurity จำเป็นต้องจัดการให้ทุกฝ่ายภายในประเทศพร้อมและหาจุดสมดุลร่วมกัน ก่อนคิดเรื่องนโยบายระดับภูมิภาค

ว่าที่ ร.ต.สรายุทธ์ บุญเลิศกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทย

ว่าที่ ร.ต.สรายุทธ์ บุญเลิศกุล นายกสมาคมผู้ประกอบการโทรคมนาคมไทย กล่าวว่า โลกของเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนั้นจำเป็นที่จะต้องดูแลความมั่นคงปลอดภัย เมื่ออินเทอร์เน็ตเชื่อมโลกแล้ว คำว่า regional จึงต้องมากกว่าแค่อาเซียน อย่างไรก็ดีก่อนไปกำหนดนโยบายในระดับภูมิภาคนั้น ไทยจำเป็นต้องออกกฎหมายรองรับด้วย เพราะไม่ว่าจะออกมาตรฐาน นโยบาย หรือ recommendation ต่าง ๆ สุดท้ายก็ต้องมาจบที่กฎหมาย ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ก็ยังทำงานช้าอยู่

 

ดร.ภูมิ ภูมิรัตน นักวิชาการอิสระ ให้มุมมองว่า การจัดทำกรอบนโยบายให้มองใน 4 มิติ คือ ด้านรัฐ ด้านเอกชน ด้านประชาสังคม และด้านการศึกษาและเทคโนโลยี ในส่วนการศึกษานั้น เรากำลังผลิตบุคลากรให้ไม่ใส่ใจเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่จะมาเป็นผู้ใช้เทคโนโลยี ส่วนเทคโนโลยีเอง เราก็เป็นผู้ซื้อแทบไม่ผลิต ความพร้อมในด้านนี้จึงน้อยที่สุดและเป็นปัญหาสำคัญ ในด้านประชาสังคม น่าดีใจที่มีหลายกลุ่มช่วยกันมองในเรื่องสิทธิเสรีภาพและสิทธิที่ควรจะได้รับ แต่กิจกรรมเหล่านี้ยังอยู่ในกลุ่มเล็ก ๆ ไม่เข้าถึงคนในวงกว้าง ส่วนภาคธุรกิจ บางแห่งพร้อม รู้แนวทางและเตรียมการทั้งเรื่องเทคโนโลยีและคน แต่หลายที่ยังไม่เห็นความสำคัญ ซึ่งเมื่อโลกเข้าสู่ดิจิทัลก็จะตามไม่ทัน และถ้าจะตามให้ทันก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ส่วนภาครัฐนั้น มีเพียง ETDA กับ EGA ที่ตื่นตัวและเข้าใจประเด็น หน่วยงานอื่น ๆ ควรช่วยกันมากกว่านี้

 

นางสาวจีรนุช เปรมชัยพร  ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน เสริมว่า ภาครัฐยังขาดความพร้อมในหลายส่วนอยู่มาก เรายังติดกับระเบียบราชการที่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติที่เข้าใจเทคโนโลยีจริง ๆ แม้แต่เว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐหลายแห่งก็ยังต่ำกว่ามาตรฐานมาก เรื่องง่าย ๆ เช่นการอัปเดตซอฟต์แวร์ก็ยังไม่เป็นไปเท่าที่ควร ทำให้ขาดความมั่นใจในการทำงานของรัฐ ส่วนอีกเรื่องที่จะทำให้ไทยมีความพร้อมด้านเศรษฐกิจดิจิทัลมากกว่านี้ คือ ช่องว่างในการมอง Security กับ Privacy เป็นคนละเรื่อง ทั้งที่เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กันอย่างถึงที่สุด ซึ่งข้อกฎหมายในหลาย ๆ ข้อที่กำลังพิจารณากันต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้

Mr.Robert Fox จาก Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand

Mr.Robert Fox จาก Joint Foreign Chambers of Commerce in Thailand ชี้ว่า จากร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัลของไทยตอนนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่เห็นว่าภาครัฐได้ให้ความสำคัญกับเรื่อง Cybersecurity ซึ่งความร่วมมือในการทำงานของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่ต้องมี และทุกภาคส่วนต้องมีความพร้อม โดยประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ต่างก็ใช้เวลากันมากในการดำเนินการเรื่องนี้ นอกจากนั้น ไม่ควรเอาเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของโครงข่าย (Network Security) ไปเหมารวมกับความมั่นคงปลอดภัยของชาติ (National Security) เพราะจะทำให้คนเข้าใจผิดได้

 

ประเด็นที่น่าสนใจจากการพูดคุยในวันนี้คือ ภาครัฐควรเป็นฝ่ายสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจในการสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ไม่ใช่เป็นฝ่ายบังคับอย่างเดียว โดยแต่ละภาคส่วนต้องตกลงหาจุดสมดุลเพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน ที่สำคัญคือประชาชนทุกคนต้องเป็นหน่วยอาสาที่ตื่นตัวและรับรู้เพื่อช่วยกันดูแลให้สังคมไซเบอร์มั่นคงปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

ติดตามความคืบหน้าของชุดร่างกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล และการพูดคุยของเวที ICT Law Center Open Forum ครั้งต่อไปซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 9 พฤษภาคม 2558 ได้ทาง https://www.etda.or.th และ http://ictlawcenter.etda.or.th

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ICT LAW CENTER  ขอเชิญร่วมทำแบบประเมินความพึงพอใจในการเข้าถึงข้อมูล ของ สพธอ.

    * ท่านมีความพึงพอใจในช่องทางการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมาย/คู่มือ/แนวปฏิบัติ ที่ สพธอ. จัดเตรียมไว้ มากน้อยเพียงใด