2014-07-30 20:57:37

ETDA ยกระดับมาตรฐานการใช้หลักฐานดิจิทัลในศาลไทย พร้อมบริการศูนย์ดิจิทัลฟอเรนสิกส์เต็มรูปแบบปลายปีนี้

          วันนี้ (17 มิถุนายน 2557) ETDA จัดงานสัมมนา Cybersecurity ในหัวข้อ “Digital evidence: Practices, standards, and court admissibility” เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ บริการ และมาตรฐานประเทศไทยกับการนำพยานหลักฐานดิจิทัลมาใช้ในกระบวนการยุติธรรม

          นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เผยว่า ยุคแห่งการสื่อสารในปัจจุบัน อุปกรณ์สื่อสารทั้งคอมพิวเตอร์  แท็บเล็ต และโทรศัพท์มือถือ ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่ว่าจะโดยรู้หรือไม่ก็ตาม อุปกรณ์เหล่านี้ได้บันทึกข้อมูลส่วนตัวต่างๆ ของแต่ละคนเอาไว้มากมาย ทำให้ปัจจุบันอุปกรณ์เหล่านี้กลายมาเป็นพยานหลักฐานชิ้นสำคัญสำหรับเจ้าหน้าที่ในการสืบสวนหาข้อเท็จจริง ซึ่งเรียกกันโดยรวมว่า “พยานหลักฐานดิจิทัล”

          นายชัยชนะ มิตรพันธ์ รอง ผอ.ETDA และวิทยากรบรรยายในหัวข้อ “วิสัยทัศน์ บริการ และมาตรฐาน Digital forensics” กล่าวเสริมว่า ในการตรวจวิเคราะห์ข้อมูล นอกจากต้องอาศัยซอฟต์แวร์เฉพาะทาง ที่ต้องได้รับการตรวจสอบความถูกต้องของผลการทำงานและได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้ว ความเชี่ยวชาญและการติดตามข้อมูลข่าวสารของผู้ปฏิบัติงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานก็เป็นสิ่งที่สำคัญมาก การสัมมนาในวันนี้ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งที่จะช่วยเสริมศักยภาพของบุคลากรไทยที่มีอยู่ในหน่วยงานต่างๆ ซึ่งต้องขอขอบคุณ MR. William Matthews จาก Southwest Regional Computer Crime Institute, Dixie State University สหรัฐอเมริกา ที่มาร่วมอัพเดตความรู้ในเรื่อง “Mobile forensics: US Court admissibility” ด้วย อันเป็นผลจากเป็นไปตาม MoU ทางด้านการให้ความช่วยเหลือและพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัลฟอเรนสิกส์ที่ ETDA ลงนามร่วมกับสถาบันชั้นนำของโลกแห่งนี้

          “ในปลายปีนี้ ทาง ETDA ยังเตรียมเปิดตัวศูนย์ดิจิทัลฟอเรนสิกส์ ในลักษณะ Joint Lab ที่เป็นห้องปฏิบัติการและแชร์เครื่องมือให้หน่วยงานส่วนราชการอื่นมาใช้งานร่วมกัน เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศและลดการลงทุนซ้ำซ้อน เนื่องจากการตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานต้องใช้อุปกรณ์และเครื่องมือเฉพาะทางหลายชิ้น ซึ่งราคาค่อนข้างแพง นอกจากนี้ สพธอ. ยังให้ความสำคัญและจะเป็นผู้ผลักดันการสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานตรวจพิสูจน์พยานหลักฐานดิจิทัลของประเทศไทย ทั้งมาตรฐานกระบวนการปฏิบัติงาน และมาตรฐานของห้องปฏิบัติการ โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาและผลักดันให้เกิดการใช้มาตรฐานของประเทศร่วมกัน” นางสุรางคณา กล่าวปิดท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ICT LAW CENTER  ขอเชิญร่วมทำแบบประเมินความพึงพอใจในการเข้าถึงข้อมูล ของ สพธอ.

    * ท่านมีความพึงพอใจในช่องทางการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมาย/คู่มือ/แนวปฏิบัติ ที่ สพธอ. จัดเตรียมไว้ มากน้อยเพียงใด