2014-07-30 09:49:00

บทบาทของกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ

โดย คัชชิดา มีท่อธาร, ณัฐวรรธน์ สุขวงศ์ตระกูล
สำนักกฎหมาย
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน)
22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

          คำกล่าวที่ว่าเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตประจำวันไปแล้ว คงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริง เมื่อลองสังเกตพฤติกรรมตนเองในแต่ละวันจะเห็นได้ถึงความเปลี่ยนแปลง เช่น ทุกวันนี้ต้องพกโทรศัพท์มือถือติดตัวตลอดเวลา เวลาจะทำงานหรือหาข้อมูลก็ต้องเข้าอินเทอร์เน็ต หรือหากมีโอกาสนั่งรถไฟฟ้าแล้วลองเหลียวมองคนรอบข้างที่โดยสารมาด้วยกันจะเห็นผู้คนจำนวนมากก้มหน้าก้มตาทำกิจกรรมต่างๆ ผ่าน Smartphone หรือคอมพิวเตอร์พกพา จนแทบไม่ได้สนใจผู้คนรอบข้างกันเลยทีเดียว หรือถ้ามาดูในเชิงสถิติก็จะเห็นว่าตัวเลขผู้ใช้อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือของประเทศไทยก็เพิ่มสูงขึ้นทุกปี

สถิติจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ และโทรศัทพ์มือถือ [1]

          และในอนาคตก็เชื่อว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะยิ่งมีบทบาทมากขึ้นไปอีกและจะกระจายไปสู่พื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศมากขึ้น จากความก้าวล้ำและประสิทธิภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และการเข้าถึงเทคโนโลยีที่ง่ายขึ้นจากการวางโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศความเร็วสูง (Broadband) ทั้งโครงข่ายโทรคมนาคมและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารตั้งเป้าหมายให้มีการกระจายอย่างทั่วถึงและประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมตามนโยบาย Smart Thailand 2020

          อย่างไรก็ตาม แม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเทคโนโลยีสารสนเทศให้กระจายอย่างทั่วถึงมากขึ้น มีปริมาณผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น มีมูลค่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ การซื้อขายสินค้าในอินเทอร์เน็ต เป็นต้น ทั้งในรูปแบบ B2B B2C หรือ B2G เติบโตขึ้น แต่เมื่อพิจารณาจากการจัดลำดับของประเทศไทยในด้านที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจ (e-Business) ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ในภาพรวมแล้วประเทศไทยยังอยู่ในลำดับกลาง และเมื่อเทียบกับประเทศในแถบภูมิภาคเอเซีย ไม่ว่าจะเป็นประเทศญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ เกาหลีใต้ หรือมาเลเซีย ล้วนมีอันดับที่สูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสิงคโปร์ และเกาหลีใต้ และเมื่อพิจารณาจากมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ต่อจำนวนประชากรของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แล้ว จะพบว่าประเทศไทยยังอยู่ในลำดับที่ไม่สูงมากนัก

ดัชนีชี้วัดทางด้านเครือข่าย (Network Readiness Index: NRI) ปี 2010 - 2011 [2]

หมายเหตุ: ตัวเลขที่ปรากฏในตารางดัชนีเป็นลำดับที่วัดได้จากจำนวนทั้งสิ้น 139 ประเทศทั่วโลก

          ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้มูลค่าการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ของไทยยังไม่สูงมากนักก็เพราะในโลกออนไลน์ยังมีภัยคุกคามหรือการฉ้อโกงหลอกหลวง (Fraud & Phishing) เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานที่เกื้อหนุน (Logical Infrastructure) ในการสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่ในประเทศไทยยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้ได้แก่ มาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระบบการรักษาความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายที่รองรับผลของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเชื่อมั่นและไม่กล้าทำธุรกรรมในโลกออนไลน์ หรือถ้าทำก็เป็นเพียงการทำธุรกรรมที่มีมูลค่าเล็กน้อยเท่านั้น

          จากที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้น เป็นภาพรวมของการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและสภาพปัญหาเกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย โดยตอนจบคราวหน้าจะกล่าวถึงบทบาทของกฎหมายซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานที่เกื้อหนุน (Logical Infrastructure) ว่าจะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือให้กับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยได้อย่างไร


[1] ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ
[2] ที่มาข้อมูลจาก World Economic Forum, The Global Information Technology Report 2010 – 2011, http://www3.weforum.org/docs/WEF_GITR_Report_2011.pdf, สืบค้นเมื่อ 15 ตุลาคม 2555

 

วันที่เผยแพร่ 23 พฤศจิกายน 2555
วันที่ปรับปรุงข้อมูลล่าสุด 7 พฤษภาคม 2556

บทความที่เกี่ยวข้อง

  • บทบาทของกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ตอนจบ)

    สำหรับกฎหมายนับเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของโครงสร้างพื้นฐานที่เกื้อหนุน โดยกฎหมายสามารถเป็นเครื่องมือหนึ่งในการผลักดันโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ให้เกิดขึ้นได้ในทางปฏิบัติ โดยการนำสิ่งเหล่านั้นมาเขียนเป็นกฎหมายเพื่อให้เกิดการบังคับใช้ และเกิดเป็นระบบหรือมาตรฐานใน

ICT LAW CENTER  ขอเชิญร่วมทำแบบประเมินความพึงพอใจในการเข้าถึงข้อมูล ของ สพธอ.

    * ท่านมีความพึงพอใจในช่องทางการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับร่างกฎหมาย/คู่มือ/แนวปฏิบัติ ที่ สพธอ. จัดเตรียมไว้ มากน้อยเพียงใด